ความหมายและคำนิยาม
คำว่า "ศิลปะ" เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางมาก เป็นศาสตร์ที่รวมผลงานที่มีคุณค่าอย่างมหาศาลของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นทัศนศิลป์ที่ประกอบไปด้วย จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์และศิลปะการแสดง ดนตรี วรรณศิลป์หรือกระทั่ง ประยุกต์ศิลป์ซึ่งเป็นผลงานที่มนุษย์พบเห็นในชีวิตประจำวันล้วน ให้คุณค่าให้ประโยชน์แก่มวลมนุษย์ งานศิลปะแม้จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางผลผลิตเพื่ออาหารทางกายแต่คุณสมบัติที่สำคัญยิ่งคือความงามที่ทำให้เกิดความรู้สึก ซาบซึ้งในคุณค่าของความงามหรือความพึงใจที่เรียกว่าคุณค่าทางสุนทรีย์ซึ่งคุณค่าทางสุนทรีย์นี้เองเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เลือกบริโภคผลงานศิลปะที่มีคุณค่า และ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวันได้
ความหมายของศิลปะ
ศิลปะตรงกับภาษาอังกฤษว่า "ART"การทำความเข้าใจในความหมายของคำว่าศิลปะเป็นเรื่องที่ยากเพราะศิลปะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ การสร้างและ การ แสดงอารมณ์ความรู้สึกภายใจของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับความงามความพอใจของแต่ละคน บางคนอาจมีความชื่นชมในความงามแตกต่างกันและยังคงเป็นเรื่องที่เข้าใจ ยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาศิลปะ
คำนิยามของศิลปะ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ให้นิยามของศิลปะว่า ศิลปะ คือ ฝีมือ ฝีมือทางการช่าง การแสดงซึ่งอารมณ์ สะเทือนใจ ให้ประจักษ์เห็น
พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2530 นิยามความหมายของศิลปะว่า ศิลปะ คือ ผลแห่งพลังความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่แสดงออก ในรูปลักษณ์ ต่างๆให้ปรากฏซึ่งสุนทรียภาพความประทับใจ หรือ ความสะเทือนอารมณ์ ตามอัจฉริยภาพ พุทธิปัญญา ประสบการณ์ รสนิยม และทักษะของแต่ละคน เพื่อความพอใจ ความรื่นรมย์ ขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี หรือความเชื่อในลัทธิศาสนา และกล่าวว่า ศิลปะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ วิจิตรศิลป์ (Fine Art) กับประยุกต์ศิลป์ (Applied Art)
อริสโตเติล (Aristotle) ปราชญ์ในยุคกรีกโบราณ นิยามความหมาย ของศิลปะว่า ศิลปะคือการเลียนแบบธรรมชาติ
ตอลสตอย (Leo Tolstoi) นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงชาวรัสเซีย นิยาม ความหมาย ของศิลปะ ว่า ศิลปะคือการถ่ายทอดความรู้สึกของมนุษย์ออกมา
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีรศรี (C. Feroci) ศิลปินชาวอิตาเลียนผู้มาวางรากฐาน การศึกษาศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย ได้นิยามความหมายของศิลปะว่า ศิลปะคืองาน อันเป็น ความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งจะต้องใช้ความพยายาม ด้วยมือและความคิด และยังมีคำนิยามของศิลปะที่น่าสนใจและถูกใช้อ้างอิง อย่างแพร่หลาย ในปัจจุบัน ที่ปรากฎตามหนังสือ และเอกสารต่าง ๆ ดังจะยกตัวอย่าง พอเป็นสังเขป ดังนี้
ศิลปะ คือ การเลียนแบบธรรมชาติ (Art is the imitation of nature) การตีความจากคำนิยามนี้ ธรรมชาติ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิด แรงบันดาลใจ ให้แก่ ศิลปินในการสร้างงาน คำนิยามนี้ว่าศิลปะคือ การเลียนแบบธรรมชาติ เป็น คำนิยาม ที่ถือกันว่าเก่าแก่ที่สุดซึ่ง อริสโตเติล (Aristotle 384-322 B.C.) นักปราชญ์ชาวกรีก เป็นผู้ตั้งขึ้น เป็นการชี้ให้เห็นว่า ธรรมชาติอาจเปรียบได้ดังแม่บทสำคัญ ที่มีต่อศิลปะ ด้วยศิลปะ เป็นสิ่งสร้างโดยมนุษย์ และมนุษย์ก็ ถือกำเนิดมาท่ามกลาง ธรรมชาติ อีกทั้งบนเส้นทาง การดำเนินชีวิตมนุษย์ก็ผูกพันธ์อยู่กับธรรมชาติ จนไม่สามารถ แยกออกจากกันไดในทางศิลปะ มิใช่เป็นการบันทึก เลียนแบบเหมือนกระจกเงาหรือ ภาพถ่าย ซึ่งบันทึกสะท้อนทุกส่วน ที่อยู่ตรงหน้า แต่อาจจะเพิ่มเติม ตัดทอน หรืออาจจะใส่อารมณ์ ความรู้สึกเข้าไปด้วย ธรรมชาติเป็นแหล่งบันดาลใจที่สำคัญในการสร้างงานศิลปะของมนุษย์
ธรรมชาติ จึงอาจคล้ายแหล่งวิทยาการที่ยิ่งใหญ่ ของมวลมนุษย์ ในการศึกษา ค้นคว้าลอก เลียนและที่สำคัญคือ มนุษย์ต้องเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อการดำรงชีวิตอย่าง มีประสิทธิภาพ และจากการ สังเกต มนุษย์อาจได้พบกับความพึงพอใจในลักษณะ ที่แฝงเร้นอยู่กับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสีสัน รูปร่าง บรรยากาศ ความแปลก ความงาม ฯลฯ และบางครั้งสังเกตเห็น ความเปลี่ยนแปลง ของธรรมชาติ ก่อให้เกิดความประทับใจ สะเทือนใจ เสียดายและความรู้สึกอื่น ๆ จนถึงความต้องการเป็น เจ้าของ จากความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ เป็นแรงกระตุ้น ให้มนุษย์พยายาม ที่จะรักษาสภาพการณ์ นั้นไว้ให้คงอยู่ อาจด้วยความทรงจำ และถ่ายทอดความทรงจำนั้นด้วย สื่อและรูปแบบ ต่าง ๆ
ในคำนิยามนี้ ศิลปะก็เปรียบได้ดัง เครื่องมือ ของศิลปิน ที่ใช้บันทึก เลียนแบบธรรมชาติไว้ แต่ในการเลียนแบบธรรมชาติ ในทางศิลปะ มิใช่การเลียนแบบเหมือนกระจกเงา หรือภาพถ่าย แต่อาจเพิ่มเติม ตัดทอน หรืออาจสอดแทรกอารมณ์ ของศิลปิน เข้าไปด้วย
ศิลปะ คือ การถ่ายทอดความรู้สึกหรือแสดง ความรู้สึก เป็นรูปทรง (Art is the transformation of Feeling into form) รูปทรง ในที่นี้ คือว่าเป็นรูปธรรมที่สามารถสัมผัสได้ และตีความหมายได้ ซึ่ง หมายถึง ผลงานศิลปะที่เริ่มมาจาก ความคิดที่เป็นลักษณะ นามธรรมภายในตัวศิลปินเอง ที่คนทั่วไปไม่สามารถสัมผัสได้โดยตรง นอกจากเจ้าของ ความรู้สึกนั้น จะถ่ายทอดหรือสะท้อนออกมาเป็นรูปทรง ที่สัมผัส ได้ ตามความหมายของนิยามนี้ ศิลปะอาจเปรียบ เสมือน สื่อหรือเครื่องมือ ที่ผู้ถ่ายทอดใช้เป็น ตัวกลาง เพื่อโยง ความรู้สึกของตน แสดงให้ผู้อื่นได้รับรู้ หรือเข้าใจ ในสิ่งที่ ต้องการแสดง หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการแปลลักษณะ นามธรรมมาเป็น รูปธรรมนั่นเอง แต่รูปธรรมที่แสดงออกนี้ อาจจะมี ลักษณะเป็นรูปทรงที่ระบุเป็นตัวตน ได้ว่าเป็นรูปอะไร ที่เรียกว่า ศิลปะกึ่งนามธรรมหรือระบุเป็นตัวตน ไม่ได้ที่เรียกว่า ศิลปะนามธรรม
ส่วนความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น ก็เนื่องมาจากสิ่งเร้า 2 ประการ คือ สิ่งเร้าภายนอก และสิ่งเร้าภายใน จากสิ่งเร้าทางใดทางหนึ่งนี้ มีอิทธิพลต่อการถ่ายทอด รูปแบบเป็นอันมาก คือ ถ้าเป็นความ รู้สึกที่เกิดขึ้น จากสิ่งเร้าภายนอก การถ่ายทอด มักจะเป็นรูปแบบ ในลักษณะเรื่องราว รายละเอียดของ สิ่งเร้านั้น เช่น การดู การแสดงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วเกิดความรู้สึก สนุกสนาน กับบทบาทของตัวแสดงที่เห็นได้จากภายนอก ซึ่งถือเป็น สิ่งเร้าภายนอก
เมื่อถ่ายทอดโดยการเล่า ให้ผู้อื่นฟัง มักจะเล่าเรื่องราว รายละเอียด ของผู้แสดง และบทบาท การแสดงนั้น แต่ถ้าเป็น ความรู้สึกที่เกิดขึ้น จากสิ่งเร้าภายใน ของการแสดงนั้น ก็คือการเข้าใจ ซาบซึ้งในเนื้อหาสื่อเป็น ความรู้สึกออกมา เช่นโศกเศร้า ดีใจ สนุกสนาน เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น